ชีวประวัติ หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จ.นครปฐม
"พระอุดมประชานาถ" นามเดิม เปิ่น นามสกุล ภู่ระหงษ์ เกิดวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ เดือน ๙ ปีกุน ณ บ้านเลขที่ ๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายฟัก นางยวง ภู่ระหงษ์ เป็นบุตรคนที่ ๙ ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันรวม ๑๐ คน คือ
๑. นางจันทร์ อ่ำระมาด ถึงแก่กรรม
๒. นางอินทร์ คงประจักษ์ ถึงแก่กรรม
๓. นายเถิ่ง ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๔. นายชุ ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๕. นางไว ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๖. นายเลื่อน ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๗. นายไล้ ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๘. นางรองภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๙. พระอุดมประชานาถ "เปิ่น ภู่ระหงษ์"
๑๐. นางอางค์ เฮงทองเลิศ
ชีวิตปฐมวัยของหลวงพ่อเปิ่นนับเนื่องแล้ว เป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างที่สุดที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าในสมัยนั้นแถบถิ่น ลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีอุดมมากไปด้วยวิชาอาคมอาจเนื่องด้วยที่นั่น
ไกลปืนเที่ยงในตอนนั้นการเรียนรู้วิชาเอาไว้เพื่อป้องกันตัวจึงถือเป็นหนึ่ง ในลูกผู้ชายทุกคนจักพึงมีหลวงพ่อเปิ่นสนใจในเรื่องของไสยศาสตร์ มาตั้งแต่สมัยเด็กอาศัยว่าครอบครัวของท่านอยู่ใกล้กับวัดบางพระซึ่งในสมัย นั้นมีพระคุณเจ้าที่จำพรรษาอยู่ที่วัดบางพระมีความเก่งกาจมีความเชี่ยวชาญใน สายไสยศาสตร์ หลายองค์ เด็กชายเปิ่นจึงเข้าออกเพื่อความอยากรู้อยากใฝ่หา ในวิชาอยู่กับวัดบางพระเป็นประจำ
ในช่วงนี้เองบิดาซึ่งเห็นแววของเด็กชายเปิ่นมาตั้งแต่เล็กๆ ว่ามีจิตใจอันเด็ดเดี่ยวและมีสัจจะเป็นยอด จึงได้ถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งวิทยาการ คาถาอาคมที่บิดาพอมีอยู่ให้กับเด็กชายเปิ่น ถือเป็นรากฐานเบื้องต้นตั้งแต่บัดนั้น ครั้นต่อมาครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากทำมาหากินที่จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่นี่เองที่เด็กชายเปิ่นได้ฉายความเป็นนักเลงจริง เป็นคนจริงให้เห็น เพราะการอยู่ในดงนักเลงที่เป็นคนจริง จะต้องเป็นคนจริงไปด้วยโดยปริยาย
เมื่อถึงจุดนี้ผู้ชายไทยใจนักเลงทุกคนจึงต้องหาอาจารย์ศึกษาในทางด้านไสยเวท เพื่อไว้ป้องกันตัวเองบ้าง เพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมีให้แก่ตนเองบ้าง เด็กชายเปิ่นจึงต้องขวนขวายหาครูบาอาจารย์ผู้เรืองเวทวิทยาคม เพื่อศึกษาหาวิชามาไว้ป้องกันตัวเอง ได้เวทมนตร์คาถาเอามาท่องจำเป็นอย่างนี้อยู่ตลอด จนกระทั่งได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดง แห่งวัดทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ศิษย์เอกของหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน พระคุณเจ้าเก่งพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะเก่งกล้าเป็นอย่างมากทางด้านกัมมัฏฐานและไสยเวท นี่เองคือจุดเริ่มความเก่งกาจของเด็กชายเปิ่น ในเวลานั้นหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก ท่านเสมือนจะทราบว่า เด็กชายเปิ่นคนนี้มีแววแห่งผู้ขมังเวทย์อย่างแน่นอน อีกทั้งจิตอันใสบริสุทธิ์สะอาด ผนวกกับเป็นคนจริง ท่านจึงได้ถ่ายทอดในสายวิชาของท่านพร้อมวิชาไสยเวทต่าง ๆ ให้กับเด็กชายเปิ่นทุกอย่างที่สอนได้ ด้วยความที่ตนเองใฝ่หาทางนี้โดยตรง ความรู้ที่หลวงพ่อแดงมอบให้ เด็กชายเปิ่นได้รับไว้อย่างมากมาย ที่สำคัญในช่วงนั้นนั่นเองที่เด็กชายเปิ่นเติบโตขึ้นเป็นนายเปิ่นแล้วได้พบ เจอกับเพื่อนที่มีความอยากรู้ อยากเรียน อยากทราบในสายไสยเวทเหมือนกัน จึงเป็นที่ถูกคอกันยิ่งนัก ซึ่งต่อมาเพื่อนคนนี้ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนานามว่า "หลวงพ่อจำปา" (มรณภาพแล้ว) เจ้าอาวาสวัดประดู่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
นายเปิ่น ศึกษาวิชากับหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก อยู่จนถึงเวลาที่ครอบครัวย้ายกลับสู่ถิ่นฐานเดิมคือตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมอีกครั้ง ซึ่งพอดีถึงเวลาอายุครบเกณฑ์ทหาร ในสมัยนั้นการเกณฑ์ทหารแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือทหารประจำการ กับทหารโยธา การเข้าเกณฑ์ทหารในครั้งนั้น นายเปิ่นได้ถูกคัดเลือกให้เป็นทหารโยธา ผลัดที่ ๒ แต่นายเปิ่นก็ไม่ได้เป็นทหารรับใช้ชาติ เพราะทางการประกาศยุบเลิกทหารโยธาเสียก่อน จึงต้องช่วยพ่อแม่ทำนาเรื่อยมา สมัยนี้เองที่นายเปิ่นได้รับการถ่ายทอดวิชาสักยันต์อันเกรียงไกร จากหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระ
หลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต หากเทียบกันในเรื่องไสยเวทคาถา จัดได้ว่าไม่เป็นสองรองใคร เพียงแค่ท่านเพ่งกระแสจิตเท่านั้น แม้จะมีอันตรายใด ๆ ก็ตามไม่สามารถกล้ำกรายเข้ามาได้ อีกทั้งเรื่องยาสมุนไพรรักษาโรค ที่อื่นหมดทางที่จะรักษาให้หายได้ แต่เมื่อได้มากราบนมัสการขอความเมตตาจากท่าน ท่านจะปรุงยาให้ไปต้มรับประทาน ก็หายได้เหมือนปาฏิหาริย์ คาถาอาคมต่างๆ ตลอดยาสมุนไพร ที่หลวงพ่อท่านรักและเมตตาศิษย์คนนี้เป็นพิเศษ วิชาการต่าง ๆ ท่านจึงถ่ายทอดให้โดยไม่ปิดบัง
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นเพราะในช่วงที่เป็นหนุ่มแน่นนายเปิ่นเข้าออกวัดบางพระทุกครั้งขณะที่ ว่างจากงาน ใกล้ชิดกับวัดมากและดีที่สุดจนเมื่อถึงเวลาหนึ่งซึ่งนายเปิ่นคิดไปว่าควรจะ บวชเรียนเพื่อศึกษาในสายวิชาที่ได้ศึกษามานั้นอย่างจริงจัง ซึ่งวิชาดังกล่าวจะให้ได้ผลอย่างจริงจังจิตใจจะต้องนิ่งสงบไม่มีทางใดดี กว่านอกจากบวชเรียนเท่านั้น จึงขออนุญาตคุณพ่อและคุณแม่ว่าอยากจะบวช ซึ่งทั้งสองท่านต่างก็มีความยินดีมีความปลื้มอกปลื้มใจที่ลูกมีจิตศรัทธาจะ บวชเรียนในพระพุทธศาสนานอกจากจะได้รับอานิสงส์จากการบวชของลูกแล้วก็ยังเป็น การ
ที่ลูกจะตอบแทนพระคุณตามโบราณกาลที่ถือเนื่องกันมาโดยลำดับ
ดังนั้นวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน จึงเข้าสู่บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
บรรพชา วันศุกร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ณ พัทธสีมาวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบทวันศุกร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ณ พัทธสีมาวัดบางพระตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เจ้าอธิการหิ่ม อินฺทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทองอยู่ ปทุมรัตน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตฺธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้นามว่า "พระฐิตคุโณ"
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตามหน้าที่ของพระนวกะ ว่างจากงานก็ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านชราภาพมากแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาวิชาการต่าง ๆ จากท่านด้วย ท่านก็ได้ให้ความเมตตาอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้ด้วยดี ที่สำคัญของพระปฏิบัติก็คือกัมมัฎฐาน จิตใจเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด เวทมนต์คาถาจะขลังหรือศักดิ์ก็เพราะจิต ด้วยเหตุดังกล่าวหลวงพ่อจึงเน้นการปฏิบัตินี้มาก และได้ฝึกหัดให้ชำนาญ ยิ่งกว่านั้นท่านยังได้รับถ่ายทอด อักขระโบราณ เป็นรูปแบบยันต์ต่าง ๆ การลงอาคมคาถา ตามทางเดินของสายพระเวทย์ กล่าวกันว่าอักขระที่หลวงพ่อเปิ่นลงหรือเขียนนั้น สวยงามมีเสน่ห์เป็นยิ่งนัก ในช่วง ๔ ปีกว่า ที่อยู่รับใช้ และเล่าเรียนวิชาอาคมต่าง ๆ จากหลวงพ่อหิ่ม ก็รู้สึกภูมิใจมากที่ไม่เสียทีได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาทำให้รู้และเข้าใจ ในวิชาการต่างๆ และอยู่ปรนนิบัติจนถึงกาลที่หลวงพ่อหิ่มละสังขาร (มรณภาพ) ซึ่งนับเป็นศิษย์องค์สุดท้ายที่ได้อยู่ปรนนิบัติหลวงพ่อ
อย่างไรก็ดี การศึกษาเล่าเรียนใด ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แม้นได้รับจากหลวงพ่อหิ่มมาก็ยังไม่อิ่มในรสแห่งพระธรรม เสร็จจากงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อหิ่มแล้ว ก็ตั้งใจจะแสวงสัจจะธรรมต่อไปอีก จึงเข้าไปกราบลาหลวงพ่อทองอยู่ ปทุมรัตน์ พระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธมฺโม พระอนุสาวนาจารย์ เพื่อเดินธุดงค์วัตรแสวงหาธรรมเพิ่มต่อไป พระอาจารย์ทั้งสองต่าง ก็พลอยยินดีและอนุโมทนาในการที่จะปฏิบัติธรรมเพิ่มยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ทั้งสองแล้ว ได้ทราบข่าวกิตติศัพท์เล่าลือว่าที่ "วัดบางมด"เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร "หลวงพ่อโอภาสี" (พระมหาชวน) ได้อบรมแนะนำสั่งสอนพระกัมมัฎฐาน ได้มีผู้สนใจเข้าไปสมัครเป็นศิษย์กันมาก หลวงพ่อจึงได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ จะเป็นด้วยบุญบารมีที่เคยได้ร่วมกันมาแต่อดีตหรืออย่างไรไม่ทราบ หลวงพ่อโอภาสี เมื่อได้ทราบเจตนาดังนั้น ยินดีต้อนรับและสั่งให้พระจัดสถานที่ให้
ธรรมมะที่ หลวงพ่อโอภาสี แนะนำสั่งสอน ท่านจะเน้นให้ตัดทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ปล่อยวาง อย่ายึดถือ โดยเฉพาะศัตรูสำคัญคือขันธ์ ๕ ให้พิจารณาแยกออกเป็นธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เห็นแจ้งชัด ละอุปาทานที่มีอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นจริงดังกล่าวแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่จะเบาบางไป สัจจะคือความจริง ได้แก่อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ และอนัตตา ความไม่มีตัวตนก็จะปรากฏขึ้น ได้อยู่ศึกษาและปฏิบัติกับหลวงพ่อโอภาสี ท่านได้เล่าประสพการณ์ต่าง ๆ ที่ท่านได้ผจญมา และบอกว่ายังมีอาจารย์เก่ง ๆ และดี ๆ อีกเยอะ ในเมืองไทยได้อยู่รับใช้และศึกษาปฏิบัติกับหลวงพ่อโอภาสีเป็นเวลา ๑ ปีเศษก็กราบลาเพื่อออกธุดงค์วัตรต่อไป
เมื่อกราบลา หลวงพ่อโอภาสี จุดหมายปลายทางจะไปทางภาคเหนือก่อน เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่า ทางภาคเหนือของประเทศไทยนี้ มีพระอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบเป็นจำนวนมาก ความไม่อิ่มในธรรม และใคร่จะได้ศึกษาปฏิบัติให้ยิ่ง ๆ ขึ้น พบอาจารย์ที่ไหน ก็จะเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาธรรมจากท่าน เจริญสมณะธรรม อาศัยอยู่ในป่า ตามถ้ำ ตามหุบเขาต่าง ๆ สิ่งแรกที่ได้รับคือ ความกลัวหมดไป ประการที่สอง ได้กายวิเวก ประการที่สาม จิตวิเวกจะเกิดขึ้นผลที่สุดนิรามิสสุขก็จะตามมา
สถานที่ออกเดินธุดงค์วัตรอาทิเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ได้ท่องเที่ยวเจริญสมณธรรมทางภาคเหนือเป็นเวลา ๒ ปีเศษก็คิดอยากจะเดินทางลงทางใต้บ้าง
ทางภาคใต้มีภูมิประเทศ อากาศและธรรมชาติสวยงาม ร่มรื่นเย็นสบายดีมาก ทิวทัศน์ชายทะเล ป่าเขาลำเนาไพรไม่แพ้ทางภาคเหนือ ได้เดินทางไปพักและเจริญสมณะธรรมตามที่ต่าง ๆ มีปัตตานี ยะลา นราธิวาส และย้อนกลับขึ้นมาที่สุราษฎร์ธานี ได้กราบนมัสการ "หลวงพ่อพุทธทาส"แห่งสวนโมกข์ และ "หลวงพ่อสงฆ์" วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย
เมื่อเดินทางจากภาคใต้แล้ว ก็ใคร่อยากจะเดินทางไปทางทิศตะวันตก จุดหมายปลายทางคือจังหวัดกาญจนบุรี ตามกิตติศัพท์เล่าลือ ณ สถานที่นี้มีผู้แสวงหาสัจจะธรรม และความวิเวก และอาจารย์เก่ง ๆ ก็มีมาก ถ้าโอกาสดีอาจจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสพการณ์ได้ไม่มากก็น้อย
ช่วงนี้นี่เองที่ชีวประวัติ"หลวงพ่อเปิ่น"ได้ หายไป ทราบเพียงว่าท่านได้จาริกธุดงค์ข้ามขุนเขาตะนาวศรี เข้าสู่เมืองมะริด เข้าสู่บ้องตี้เซซาโว่เกริงกาเวีย ซึ่งป่าแถบนั้นเป็นป่าที่ซ่อนอาถรรพ์ลี้ลับนานาประการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์ อันตรายจากสิ่งลี้ลับมนต์ดำแห่งป่า สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้หลวงพ่อเกิดความหวาดกลัวแต่ประการใด ตรงกันข้ามท่านกลับมุ่งความตั้งใจจะเข้าสู่แดนลี้ลับนี้ให้ได้
ณ ป่านี้นี่เองที่พระธุดงค์วัตรหายไปอย่างลึกลับ มีมามากแล้วจะเป็นด้วยไข้ป่า ผีป่า นางไม้ วิญญาณร้ายต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือสัตว์ร้ายนานาชนิด โดยเฉพาะ "เสือสมิง" ที่ แห่งนี้จะมีตำนานเล่าขานกันมาตั้งแต่บรรพกาลของเสือร้ายที่สามารถกลับแปลง ร่างเป็นมนุษย์ หรือมนุษย์ที่ศึกษาวิชาทางด้านนี้ จนสามารถกลับกลายร่างของตนเองเป็นเสือสมิงไป และไม่ได้กลับร่างเป็นคนได้อีก เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ในสายวิชาเร้นลับวิชาหนึ่ง ในส่วน หลวงพ่อเปิ่นท่านไม่ ได้ประหวั่นพรั่นพรึงในส่วนนี้เลยแม้แต่น้อย จะเป็นด้วยเพื่อจะทดลองวิชาที่ได้เล่าเรียนมาว่าจะขลังหรือศักดิ์สิทธิ์จริง หรือไม่ จิตของท่านสงบนิ่งไม่ได้กลัวอะไรเลยแม้แต่น้อย
ช่วงนี้ข่าวคราวของท่านเงียบหายไปอย่างสนิท มีเพียงจากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่าเจอท่านบ้าง ชาวเขา ชาวป่า พวกกะเหรี่ยง บอกว่าเจอท่าน และท่านได้ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวป่าชาวเขาเหล่านี้กระทั่งปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔ บ่ายแก่ของวันหนึ่ง พระธุดงค์วัยเกือบสี่สิบมาปักกลดอยู่ชายทุ่ง ใกล้กับวัดทุ่งนางหรอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี พระธุดงค์องค์นี้ได้สร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้านอย่างมากมาย ทั้งปฏิปทาที่เคร่ง ทั้งสายวิชาพระเวท ทั้งยาสมุนไพรช่วยเหลือชาวบ้าน ยิ่งเกิดศรัทธาอันสูงสุดของชาวบ้านที่พุ่งตรงสู่พระธุดงค์รูปนี้ "หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ " คือองค์พระธุดงค์องค์นั้น
ประจวบกับวัดทุ่งนางหลอก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีเจ้าอาวาสมีเพียงพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่สองสามรูป จนจะกลายเป็นวัดร้างอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ที่จะช่วยพัฒนาวัดทุ่งนาวัดนางหลอกให้กลับ มาคืนมาอีกครั้ง คือองค์พระธุดงค์องค์นี้ จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเปิ่น ให้ช่วยพัฒนาวัดและเสนาสนะต่างๆ ให้ดีขึ้นเหมือนเดิมและให้หลวงพ่ออยู่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นที่พึ่งทางใจของพวกเขาต่อไป
ด้วยความเมตตาธรรม และเห็นว่าพอจะช่วยได้ หลวงพ่อจึงรับนิมนต์จะช่วยเป็นผู้นำให้ ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถของท่านทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านทั้งหลายที่มีความเดือดร้อน เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ และพระคาถาอาคมต่าง ๆ ที่จำเป็น ชาวบ้านทั้งหลายต่างมีความชื่นชมศรัทธาเลื่อมใสท่านมากยิ่งขึ้น
เพียงระยะเวลาไม่นานที่หลวงพ่อมาสงเคราะห์ การกระทำและการพัฒนาวัดต่างก็ได้ให้ความร่วมมือสามัคคีดีมาก งานยากก็กลายเป็นงานง่าย เมื่อต่างก็ร่วมมือและมีความสามัคคีกันเช่นนี้ ในการพัฒนาวัดก็เจริญรุ่งเรืองไปอย่างรวดเร็ว แปลกหูแปลกตาทันตาเห็น เปรียบเหมือนเทวดามาโปรด จึงทำให้ชื่อเสียง"หลวงพ่อเปิ่น"เป็นที่เล่าลือของชาวบ้านกว้างขวางออกไป จากคำบอกเล่าปากต่อปาก ประจวบกับจริยาวัตรอันงดงามของท่าน มีวิชาแพทย์แผนโบราณ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับทุกคนที่มีความเดือดร้อน รวมทั้งมีวิชาอาคมที่เป็นเลิศ ภายในระยะเวลาไม่ถึง ๒ ปี วัดทุ่งนางหรอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ในช่วงดังกล่าว ท่านเกิดป่วยกระทันหัน จำเป็นต้องเข้ามารักษาตัวในเมือง ท่านจึงได้กลับมารักษาตัวที่วัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตั้งใจไว้ว่าเมื่อหายป่วยดีแล้วก็จะกลับไปพัฒนาส่วนอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป
สู่วัดโคกเขมา เมื่อหายป่วยดีแล้ว ก็ตั้งใจจะกราบลาพระอาจารย์เพื่อเดินทางกลับไป ประจวบเหมาะกับที่ชาวบ้านวัดโคกเขมา มาขอพระจากพระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธัมโม ไปเป็นเจ้าอาวาสเพื่อพัฒนาวัด
พระอาจารย์เปลี่ยน ท่านได้บอกชาวบ้านโคกเขมาว่า ดีแล้ว ศิษย์ของฉันเขาไปธุดงค์ เผอิญไม่สบายกลับมารักษาตัว หายดีแล้ว ก็จะกลับไปพัฒนาวัดทุ่งนางหรอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรีอีก ฉันเองก็ไม่อยากจะให้เขาไปไกล คิดถึงเขา ฉันจะให้เขาไปช่วยพัฒนาวัดโคกเขมาให้รับรองว่าไม่ผิดหวัง ศิษย์โปรดของ"หลวงพ่อหิ่ม" ชาวบ้านเมื่อได้ทราบเช่นนั้น พากันปลื้มอกปลื้มใจไม่ผิดหวังแน่นอน กิตติศัพท์"หลวงพ่อหิ่ม"ก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว ว่าแน่แค่ไหน จึงกราบอาราธนาให้ท่านไปช่วยสงเคราะห์พัฒนาด้วย ท่านก็ยินดีรับด้วยความเต็มใจ เพื่อฉลองพระคุณของพระอาจารย์ที่ได้ช่วยเหลือมาตลอด
คณะสงฆ์ในตำบลแหลมบัว ออกประกาศและแต่งตั้งให้ "หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ" เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙ และนี่เป็นจุดแห่งบุญญาบารมีและชื่อเสียงของ"หลวงพ่อเปิ่น"
เมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา หลวงพ่อเปิ่น ได้ เริ่มพัฒนาวัด ก่อสร้างเสนาสนะ ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เกิดด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ "หลวงพ่อเปิ่น" ในเวลานั้น และที่วัดโคกเขมานี่เอง "หลวงพ่อ" ได้สร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรก ปัจจุบันพระเครื่องรุ่นนี้ของวัดโคกเขมาหายากมาก เพราะเป็นพระเครื่องที่มีประสบการณ์ สร้างอภินิหาริย์ให้ผู้เช่าบูชาได้ประจักษ์ หลังจากรุ่นรูปหล่อเนื้อทองแดงของท่านแล้ว พระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ จากวัดโคกเขมาจึงออกมาอีก เพื่อให้ศิษย์และประชาชนทั่วไปได้เช่าหาบูชากัน เพื่อนำเงินบำรุงพัฒนาวัด
ที่วัดโคกเขมา หลวงพ่อเปิ่น ออกพระเครื่อง ทั้งเนื้อผง(สมเด็จ) ทั้งรูปหล่อ ทั้งเหรียญพระบูชา(พระสังกัจจายน์) ทุกอย่างทุกองค์ที่หลวงพ่อสร้างมีค่ายิ่งสำหรับชาวบ้านที่รับไป
ทางด้านการปฏิบัติธรรม ทางด้านไสยศาสตร์ หลวงพ่อถือเคร่งในวัตรปฏิบัติจนเป็นที่เลื่อมใสแก่ผู้ที่มากราบไหว้พบเห็น และนั่นเองเป็นสาเหตุที่ทำให้ชื่อหลวงพ่อขจรไกลไปทั่วแคว้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ที่กุฏิหลวงพ่อมีศิษยานุศิษย์มากันเนืองแน่นโดยไม่ขาดสาย
อีกอย่างที่กล่าวขานกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น จวบจนปัจจุบันตั้งแต่วัดโคกเขมาเป็นต้นมา นั้นคือ "การสักยันต์" แน่ละหากกล่าวถึง "หลวงพ่อเปิ่น"ใน หมู่ของชายฉกรรจ์ ตั้งแต่อดีตมา หากเป็นสมัยท่านแล้วละก็ ก็ต้องยกนิ้วให้กับหลวงพ่อ ในเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถาที่ส่งลงสู่ร่างกายของชายชาตินักสู้ในรูปแบบเฉพาะของท่านเอง ทุกอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมถึงขนาดลงข่าวที่ว่าแม้สิ้นชีพไปแล้ว มีดผ่าตัดยังไม่สามารถเฉือนเนื้อลงได้เลย
หลวงพ่อเปิ่น ในสมัยที่ท่านยังมิได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์ หลวงพ่อเปิ่น ท่าน ลงมือสักลงอักขระเวทด้วยองค์ท่านเอง มาภายหลังหลวงพ่อได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการสักให้แก่ศิษย์เป็นองค์สักแทน แล้วหลวงพ่อเพียงทำพิธีครอบให้เท่านั้น
เรื่องการสักยันต์ของหลวงพ่อเปิ่นกล่าว เพียงบทสรุป ว่าชอบ เสือ ด้วยเหตุผลที่บอกเพียงสั้น ๆ แก่ศานุศิษย์ว่า เสือเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ เพียงเสียงคำรามของเสือ สัตว์ทั้งหลายก็สงบเงียบ กลิ่นของเสือ สัตว์ทั้งหลายเมื่อรับสัมผัสจะยอมในทันที หลีกทันก็ต้องหลีก จัดอยู่ในมหาอำนาจ เสือรูปร่างสง่างาม เต็มไปด้วยอำนาจบารมี จัดอยู่ในมหานิยม ที่สำคัญ"หลวงพ่อเปิ่น" เคยประจันหน้ากับเสือมาแล้ว กลางป่าลึก ระหว่างธุดงค์วัตรแถวป่าใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี จึงเกิดความประทับใจตั้งแต่นั้นมา ช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา อันเป็นเวลาที่เจริญรุดหน้าขึ้นอย่างสูง
ในส่วนของวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อหลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต มรณภาพลงและหลวงพ่อเปิ่นออกจาริกแสวงธรรม ทางวัดบางพระเงียบเหงาลง ต่อมา"หลวงพ่อทองอยู่ ปทุมรัตน์" พระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อเปิ่นได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่หิ่ม จนมรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๕๑๖ เจ้าอาวาสวัดบางพระ จึงว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกัน ไปกราบอาราธนาหลวงพ่อเปิ่นให้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ซึ่งในตอนแรกหลวงพ่อไม่ยอมมาด้วยสาเหตุว่าไม่มีใครดูแลวัดโคกเขมา ซึ่งเป็นเหมือนกับวัดที่ท่านสร้างขึ้นมาใหม่ ภาระและความรับผิดชอบยังอยู่ที่ท่าน
ในส่วนของญาติโยมชาวโคกเขมานั้น เคารพรักให้ลวงพ่อเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบเทียบเสมือนว่าตัวท่านเป็น น้ำทิพชะโลมใจ ท่านเป็นศูนย์รวมพลังศรัทธา เป็นพระนักพัฒนาที่สร้างแต่ความเจริญรุ่งเรือง
ญาติโยมฝ่ายวัดบางพระ ก็ไม่ได้สิ้นความพยายาม เพียรกราบอาราธนาให้ท่านกลับมาพัฒนาวัดบ้านเกิดของท่านเอง ให้กลับคืนเหมือนเดิม เพราะชาวบ้านทั้งหลายได้ร่วมพิจารณากันแล้วนอกจากท่านแล้วไม่มีใครที่จะทำ ให้วัดกลับมาเป็นดังเดิมได้ วัดบางพระมีแต่จะทรุดลงไปเรื่อย ๆ ผลที่สุดท่านก็ยอมที่จะมา แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องหาพระมาดูแลวัดโคกเขมาให้ได้ก่อน ท่านจึงจะยอมกลับวัดบางพระ
ในครั้งนั้น กล่าวกันว่าชาววัดโคกเขมา เมื่อทราบว่าหลวงพ่อเปิ่นท่าน จะต้องกลับไปพัฒนาวัดบางพระซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน เสียดายก็เสียดายทำอย่างไรได้เมื่อเหตุมันเกิดก็ต้องยอมแต่ยังอุ่นใจอยู่ว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นไปกราบปรึกษาหารือท่าน ก็คิดว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีมีประโยชน์ บางทีท่านอาจจะลงมือมาช่วยได้อีก
ในที่สุดหลวงพ่อเปิ่น ท่านก็กลับมาพัฒนาวัดบางพระ สมเจตนาของชาวบ้าน นั่นคือการจบชีวิตการธุดงค์ของหลวงพ่อเปิ่น ถนนแห่งชายฉกรรจ์ผู้มีเลือดนักสู้ในหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือ ผู้ที่ทำงานเสี่ยงกับอันตรายนานาประการ ต่างก็มุ่งตรงยังวัดบางพระ เพื่อนำวัตถุมงคลที่หลวงพ่อประสิทธิ์ประสาทไว้กับตัวเอง ด้วยเหตุนี้เอง เท่ากับเป็นการนำพาความเจริญทั้งหลายมาสู่ถิ่นตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
หลวงพ่อเปิ่น เข้ารับภาระในวัดบางพระเวลา นั้น นับเนื่องแล้วเป็นการพัฒนาที่หนักเอาการ ก่อนอื่นจัดระเบียบของวัดให้เข้าที่เข้าทางเสียก่อน ได้แก่การจัดเขตพุทธาวาส และสังฆาวาสให้อยู่เป็นสัดส่วน เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานั่น เขตพุทธาวาสและสังฆาวาสยังคละเคล้าปะปนกันอยู่ ไม่เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้มาพบเห็น
หลังจากได้วางโครงการเรียบร้อยแล้ว ให้เอาเขตสังฆาวาสทั้งหมดไปรวมอยู่ทางด้านหลัง ส่วนข้างหน้าให้เป็นเขตพุทธาวาสได้แก่โบสถ์ ศาลาการเปรียญ มณฑปพระพุทธบาท มณฑปบูรพาจารย์ ฯลฯ เป็นต้น
ในวันที่ ๒๕ เดือน สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ จึงแต่งตั้งให้ พระใบฎีกาเปิ่น ฉายา ฐิตคุโณ อายุ ๕๓ พรรษา ๒๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ โดยมี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ประทับตราประจำตำแหน่ง
หลังจากได้วางโครงการแยกแยะส่วนต่างๆ แล้ว หลวงพ่อเปิ่น ได้ ย้ายและสร้างกุฏิสงฆ์ เพื่อให้พอกับพระที่อยู่จำพรรษา และพัฒนาวัดมาโดยตลอดอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการพัฒนาวัด และพร้อมด้วยจริยาวัตรอันงดงาม ปลูกศรัทธาปสาทะของผู้พบเห็น บำเพ็ญในสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างสูง และด้วยการที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ทางคณะสงฆ์และทางราชการเห็นความสำคัญ จึงได้ประกาศเกียรติคุณความดีให้ปรากฏเป็นอนุสรณ์ตลอดมา
ในวันที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ ให้พระฎีกาเปิ่น วัดบางพระ จังหวัดนครปฐม เป็น "พระครูฐาปนกิจสุนทร" ช่วง นี้นี้เองที่วัดมีการออกพระเครื่องและวัตถุมงคล เพื่อทดแทนในน้ำใจแห่งศรัทธาที่ศิษยานุศิษย์และชาวบ้านได้ร่วมกันในการพัฒนา วัดบางพระนั่นเองฯ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ หลวงพ่อท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์จาก พระครูฐาปนกิจสุนทร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เป็น "พระอุดมประชานาถ"
ด้วยการพัฒนาวัดและชุมชนมาโดยตลอด ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ถวายปริญญาบัตร พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ แก่องค์หลวงพ่อ แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อได้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ของประชาชนโดยแท้ ท่านไม่ทิ้งธุระทางการศึกษา พัฒนาสาธารณะประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาไว้มากเพื่อเป็นแนวทางแก่พระภิกษุ - สามเณรในพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อเปิ่น ท่านได้มองถึงประโยชน์ของการศึกษาถึงวัฒนธรรมความเจริญของท้องถิ่นแห่งนี้ เมื่อสมัยก่อน ในการที่จะพัฒนาบุคคลให้มีความรู้คู่คุณธรรมและมีจิตสำนึกรักภูมิลำเนาของตน โดยที่ท่านได้วางการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ตั้งใจจะสร้างไว้นานแล้ว เพื่อเป็นที่รวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้าน และของเก่าแก่ของแถบลุ่มน้ำนครชัยศรี บริเวณตำบลบางแก้วฟ้านี้ ที่เมื่อครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งที่มีการติดต่อค้าขายกัน มีชาวบ้านอยู่มากมาย เป็นแหล่งรวมสรพวิชาความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งในบริเวณนี้ ซึ่งสามารถดูได้จากโบสถ์เก่าสมัยอยุธยาตอนปลาย เรือสำเภาโบราณที่มีเจดีย์เล็ก ๆ บนเรือนั้น ส่วนวิชาความรู้ต่าง ๆ ในสายพระเวทคาถา ท่านเองได้ศึกษามามากจากหลวงปู่หิ่ม (พระอุปัชฌาย์) หลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อแดงวัดทุ่งคอก หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน เป็นต้น และออกฝึกปฏิบัติทางจิตตามแนวทางในพระพุทธศาสนาเพื่อให้รู้ถึงสภาวธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตของตน โดยปฏิบัติธุดงค์วัตรในสถานที่ต่าง ๆ ท่านเองเป็นตัวอย่างของพระนักศึกษาทั้งทางรูปธรรม และนามธรรมอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งสามารถนำวิชาความรู้ต่าง ๆ มาช่วยเหลือชี้นำแนวทางและพัฒนาจิตใจแก่พุทธศาสนิกชนได้ หลวงพ่อเองเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเมตตาต่อผู้ที่มาหาท่าน รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณวัดบางพระ
หลวงพ่อเปิ่น ได้ฝากปริศนาธรรมต่างๆ โดยการปฏิบัติ และสร้างสิ่งต่างๆ ให้เห็นทั้งรูปธรรม - นามธรรม หลายต่อหลายอย่างซึ่งปรากฏแก่ผู้ที่ใกล้ชิดท่าน อันพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งได้ระลึกเสมอว่าสังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาได้ยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความ ไม่ประมาท ตามพระวาจาที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ครั้งสุดท้าย หลวงพ่อมีศีล และจริยวัตรอันงดงาม ในขณะที่ธาตุสี่ ขันธ์ห้ายังประชุมอยู่ ถือได้ว่าเป็นพระแท้ที่หาได้ยากในยุคนี้
ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๕ น. ณ โรงพยาบาลศิริราช หลวงพ่อเปิ่น ได้ ละสังขารด้วยอายุ ๗๙ ปี ๕๔ พรรษา ยังความอาลัย เศร้าโศก เสียใจแก่ปุถุชนจิต แต่ได้แสดงให้เห็นถึงมรณัสสติแก่ศิษยานุศิษย์ คุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ในพระพุทธศาสนามากมาย จะเป็นตำนานแห่งแผ่นดินไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เป็นเครื่องเตือนสติให้พุทธศาสนิกชนได้รู้จักและปฏิบัติสืบสานกันต่อไป
ที่มาจาก http://www.itti-patihan.com ขอบคุณด้วยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น